SiteName

ฝนมาตกหนัก แต่แปลกหลายสิบจังหวัดยังเจอ“ภัยแล้ง”

 topic4 old p25 1


บรรยากาศฟ้าครึ้ม ลมแรง มีฝนฟ้าคะนองสลับตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เป็นสัญลักษณ์การมาของฤดูฝนที่เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วทั่วทุกภูมิภาคยามนี้ โดยเฉพาะภาคใต้โดนฝนถล่มจนน้ำท่วมหลายจังหวัด นอกจากนี้ ทางภาคเหนือ ฝนที่ตกหนักก็ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากหลายพื้นที่ ทั้งยังไหลท่วมเส้นทางรถไฟ โดยน้ำได้กัดเซาะดิน และหินใต้รางสร้างความเสียหายตามปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ แต่ก็แปลกที่หลายพื้นที่ของประเทศยังประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่จำนวนไม่น้อย

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2555 จากเว็บไซต์ศูนย์นิรภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์สาธารณภัย ว่า ในส่วนของสถานการณ์ต่อเนื่อง ภัยแล้งปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งที่จังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 11 จังหวัด 73 อำเภอ 518 ตำบล 5,732 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 596,704 ครัวเรือน 2,111,564 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 201,636 ไร่

ขณะที่ จังหวัดได้ประกาศยุติสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว 40 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ จันทบุรี ยโสธร ศรีสะเกษ มุกดาหาร นครพนม สุพรรณบุรี ตราด ภูเก็ต เชียงราย อุทัยธานี เพชรบุรี เลย สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย พิจิตร ชลบุรี ชัยนาท พะเยา น่าน เพชรบูรณ์ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ กาญจนบุรี บุรีรัมย์ บึงกาฬ และฉะเชิงเทรา

สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ รวม 37,121 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 53) น้อยกว่าปี 2554 จำนวน 1,494 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล 6,168 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 46) และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ 4,634 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 49)

ขณะเดียวกัน มีการแจ้งเตือนของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เฝ้าระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก จากเหตุฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

โดย กรมทรัพยากรธรณี แจ้งเตือนภัยดินถล่ม พื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร พังงา ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เฝ้าระวังภัยดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลากในระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2555 โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง จังหวัดพังงา อำเภอย่านตาขาว ปะเหลียน เมือง จังหวัดตรัง อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ควนกาหลง ควนโดน จังหวัดสตูล อำเภอเมือง ถลาง กะทู้ จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากฝนตกหนัก และตกต่อเนื่อง โดยบางพื้นที่วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร และเริ่มมีน้ำไหลหลากบางพื้นที่แล้ว

ด้านข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2555 (กลางพฤษภาคม-กลางตุลาคม) ว่าในระยะแรกจะมีฝนตกเป็นระยะ ๆ เกือบตลอดช่วง แต่ปริมาณฝนยังมีไม่มากนัก จากนั้น ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมปริมาณฝนจะลดน้อยลง ซึ่งอาจทำให้น้ำมีไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน และปริมาณฝนจะดีขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ปริมาณฝนรวมโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มใกล้เคียงค่าปกติ

ทั้งนี้ในบางช่วงจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอุทกภัยได้ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิด

ตั้งสติพร้อมเสมอ เตรียมรับ ภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึง

 

topic4 old p25 2 topic4 old p24

 

 

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2555  

 

กลุ่มวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร