แนะนำหน่วยงาน
ประวัติ
กลุ่มวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร เดิมเป็น สำนักป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร ตามคำสั่งกรมพัฒนาที่ดินที่ 308/2553เรื่อง ตั้งสำนักป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร เป็นการภายในและมอบอำนาจให้รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินต่อมามีการปรับโครงสร้างและแบ่งส่วนราชการใหม่ดังนี้
ปี 2555 ควบรวมหน่วยงานเป็นกลุ่มป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร สังกัดสำนักสำรวจดินและและวางแผนการใช้ที่ดิน
ปี 2557 มีการแบ่งส่วนราชการใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่และสถานการณ์ปัจจุบัน เป็น กลุ่มวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร จนถึงปัจจุบัน
หน้าที่หลัก
การศึกษา วิเคราะห์ ถึงสาเหตุและปัญหา เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร สภาพพื้นที่ ดิน ระบบการเกษตร และสิ่งแวดล้อมทั้งจากน้ำท่วม ความแห้งแล้ง ผลกระทบจากดินถล่ม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการ ค้นคว้าพัฒนาระบบการเกษตรที่เหมาะสม เป็นไปได้ และสอดคล้องกับสถานการณ์ ในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติต่างๆตลอดจน พัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันและเตือนภัยธรรมชาติทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการเตือนภัยก่อนฤดูการเพาะปลูก เพื่อลดความเสียหายในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งประสานงาน ประสานความร่วมมือทางวิชาการ กับหน่วยงานอื่น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วิสัยทัศน์
1) ป้องกันแก้ไข ปัญหาพิบัติภัย พัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไกล นำเกษตรไทย ฝ่าวิกฤตภัยธรรมชาติ
พันธกิจ
1) ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร
2) ศึกษา ค้นคว้า และสังเคราะห์องค์ความรู้ มาตรการ/วิธีการที่เหมาะสม นำมาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน และฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
3) ศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสภาพพื้นที่ดิน ระบบการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
4) พัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันและเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกี่ยวกับดินถล่ม พื้นที่น้ำท่วม และแห้งแล้งซ้ำซาก เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้รับข้อมูลข่าวสารด้านภัยธรรมชาติที่ถูกต้อง ทันต่อสถานการณ์ เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
5) ประสานงาน และประสานความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในและระหว่างประเทศ
6) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย