SiteName
ดิน น้ำ ลม ไฟ มีคุณลดโทษด้วยทศพิธราชธรรม ทิศทางเกษตร
 
topic4 old p24 1

นับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติในปี 2489 พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั้งแผ่นดินได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนทั้งชาติด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทย สมดังที่ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายตรากตรำและมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกร ไม่ว่าจะเชื้อชาติและศาสนาใด หรืออยู่ห่างไกลสักเพียงใดก็มิทรงย่อท้อ ทรงเข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงานการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทย และสามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงเน้น “การพัฒนาคน” เป็นตัวตั้ง และยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชน และการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชน เป็นประการสำคัญตลอดจนภูมิสังคมที่คำนึงความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และการพึ่งตนเอง โดยรู้จักประมาณตนและดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และ “ทำตามลำดับขั้น” อย่างบูรณาการ ซึ่งอาศัยความ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และการ “รู้ รัก สามัคคี” ของทุกฝ่าย ส่งผลให้ประชาชนและชุมชนในชนบทที่ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ดำเนินการได้อย่างประหยัด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่ชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างต่อเนื่องตลอดมา

จวบจนปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดขึ้น กว่า 4,200 โครงการ/กิจกรรม เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ราษฎรทั่วประเทศ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การเกษตร การอาชีพ สิ่งแวดล้อม คมนาคม และอื่น ๆ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่ในการประสานงานส่วนงานที่เกี่ยวข้องพร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมาย

แนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการพัฒนา และอนุรักษ์ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นหรือรักษาไว้ไม่ให้ตกต่ำ มรรควิธีส่วนใหญ่เป็นวิธีการตามธรรมชาติที่สร้างความสมดุลของระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น เช่น ให้มีการปลูกไม้ใช้สอยร่วมกับการปลูกพืชไร่ เพื่อประโยชน์ให้ได้ร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้น หรือการปลูกพืชบางชนิดในพื้นที่ซึ่งดินไม่ดี เพื่อบำรุงดินโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี พื้นที่บางแห่งไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชผล ทรงแนะนำให้ใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ฟื้นฟูเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยมีพระราชดำริว่า

“… การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน...”

พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี “การแกล้งดิน” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันทำให้ดินเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง แล้วลดความเป็นกรดลงให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวได้ พื้นที่ดินในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความลาดชันสภาพเสื่อม                    โทรมเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารในดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแนววิถีทางธรรมชาติ ด้วยการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำทรงตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคเป็นปัญหาที่รุนแรง และสำคัญที่สุด การจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ นับเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ความตอนหนึ่งว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” ด้วยเหตุนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,200 โครงการ จึงมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 2,200 โครงการ โดยเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม และเพื่อการบรรเทาอุทกภัย    

โครงการชั่งหัวมันตามแนวพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด และเพื่อเป็นแนวทางในการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริให้กับเกษตรกร โดยได้มีพระราชดำรัสให้นำพลังงานลมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ติดตั้งกังหันลมจำนวน 10 ตัว เพื่อเป็นตัวอย่างทางด้านพลังงาน มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 100kW ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้อีกด้วย

ด้วยพระปรีชาและพระอัจฉริยภาพ ประกอบกับสายพระเนตรอันกว้างไกล แม้คำว่า “พระบิดาแห่งการพัฒนาไทย” ก็ยังมิอาจเทียบกับผลที่ได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศ พระองค์ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงหลักการแห่งการพัฒนาอย่างถ่องแท้ทั้งดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งหากมองผิวเผินเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่ต้องดูแลรักษา แต่พระองค์ทอดพระเนตรสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น พระองค์ทรงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “คุณอนันต์” และทรงป้องกัน “โทษมหันต์” จากดิน น้ำ ลม และไฟ จวบจนในทุกวันนี้.

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555

 

กลุ่มวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร