นับจากบุคคลระดับผู้นำโลก ตั้งแต่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ของอังกฤษ ออกหน้ารณรงค์ให้โลกตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก (Climate Change) ก่อกระแสการตื่นตัวอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ แม้แต่การประชุมเวทีสำคัญๆ เกี่ยวกับโลกร้อน ก็เริ่มมีขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ดังการประชุมของขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อต้นเดือน เมษายนที่ผ่านมา และอีกเวทีหนึ่ง ที่จัดขึ้นที่อินโดนีเซีย คือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (average weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น ในความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ แต่ความหมายที่ใช้ในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก ความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์
สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ นับตั้งแต่การปฎิวัติอุตสาหกรรม (Intrustrial revolution) ในสหราชอาณาจักรเมื่อ 200 -250 ปีก่อน ส่งผลให้อุณหภูมิที่พื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าภายในอีก 100 ปีข้างหน้า อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นอีก 1.4 - 5.8 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมมีผลอย่างยิ่งในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีการเผาไหม้น้ำมันและถ่านหิน นอกจากนี้ กิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปของมนุษย์ เช่น การขับขี่ยานพาหนะ การใช้เชื้อเพลิงหุงต้ม การใช้พลังงานไฟฟ้า ยังรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการทำการเกษตรบางประเภทยังมีผลกระทบอย่างมากด้วยเช่นกัน
กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีผลทำให้ ก๊าซเรือนกระจก (Grennhouse Gases : GHGs) ในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนี้มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือที่เรียกว่า"รังสีอินฟราเรด(Infrared)" จึงช่วยรักษาความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกอย่างเหมาะสม แต่การที่มีปริมาณก๊าซเหล่านี้สูงขึ้นมากกว่าระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก จึงส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นในระดับที่ผิดปกติตามไปด้วย และทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป
ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นปรากฏการณ์ที่ตรวจวัดได้จริงทั้งส่งผลชัดขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันมีการใช้แบบจำลองภูมิอากาศโลก (General Circulation Model) เพื่อสร้างภาพเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยสถาบันวิจัยนานาชาติหลายสถาบัน บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ความแปรปรวนของหยาดน้ำฟ้า (precipitation) และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และจากการรวบรวมข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 1 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจดูเหมือนการเพิ่มขึ้นที่ไม่มากนัก แต่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเพียงเล็กน้อย สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมองย้อนกลับไป 400,000 ปีก่อน จะพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง โดยแต่ละครั้งอาจเปลี่ยนแปลงมากถึง 10-12 องศาเซลเซียส
ที่มา:UNEP, Vital Climate Change Graphics, February 2005งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจากทั่วโลกแสดงให้เห็นถึง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกภูมิภาคทั่วโลกได้เกิดขึ้นแล้ว ดังเช่น
- คลื่นความร้อนที่หนักที่สุดในช่วงหน้าร้อนปี 2546 ได้คร่าชีวิตกว่า 20,000 ชีวิตในทวีปยุโรป
- ปลาแซลมอนที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนเหนือลดจำนวนลงอย่างมากเนื่องจากน้ำทะเลในบริเวณนั้นร้อนขึ้นกว่าปกติถึง 6 องศาเซลเซียส
- ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อทุกประเทศที่มีพื้นที่ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก ทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดีย เช่น เกาะตูวาลู ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฟิจิ ประชากรกว่า 10,000 คน ต้องอพยพไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจนท่วมที่อยู่อาศัย
- ปะการังทั่วโลกกำลังถูกทำลายจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ และถ้าอัตราการทำลายยังคงที่ในระดับปัจจุบัน แนวปะการัง Great Barrier Reef ทั้งหมดอาจจะตายได้ภายในหนึ่งชั่วอายุคน
- ทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้นกทะเลหลายร้อยตัวจากจำนวนนับพันบริเวณชายฝั่งแคลิฟอเนียตายลงเนื่องจากขาดแคลนอาหาร
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง หากปล่อยให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวต่อไป ดังเช่น จะเกิดภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง การเกิดพายุต่างๆจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นขึ้น มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น มาลาเรีย ซึ่งจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหามาก่อน อันจะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร และเกิดความขัดแย้งในระดับภูมิภาคเนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติ พื้นที่ป่าไม้ของโลกจำนวนหนึ่งในสามอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกทำลาย เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยป่าไม้เพื่อความอยู่รอดลดจำนวนลงจนอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ในที่สุด
|
||||