ลุ่ม น้ำ หมายถึง พื้นที่หน่วยหนึ่งซึ่งครอบคลุมลำน้ำธรรมชาติเพื่อทำหน้าที่รวบรวมน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำแต่ละแห่งจะมีขนาดไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์และวัตถุประสงค์ในการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการ
การจัดการลุ่มน้ำ หมายถึง การจัดการพื้นที่เพื่อให้ได้น้ำที่มีปริมาณมากพอ คุณภาพการไหลสม่ำเสมอพร้อมทั้งควบคุมเสถียรภาพของดิน ลดความเสียหายจากน้ำท่วมและจัดการใช้ทรัพยากรลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างคุ้มค่าล่าสุดทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาและสาธิตรูปแบบการปลูกพืชที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ และรูปแบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนขึ้นโดยพิจารณาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวบรวมและขยายพันธุ์พืช เพื่อขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำต่อไป
การศึกษานี้มีแนวคิดและหลักการเบื้องต้น คือ การปลูกพืชยึดแนวทางการปลูกแบบผสมผสานหลายชนิดในพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเพื่อให้มีปริมาณผลผลิตที่พอกินพอใช้ในครัวเรือน และปลูกพืชเศรษฐกิจผสมผสานสร้างรายได้ได้ข้อสรุปว่าการปลูกนั้นจะปลูกพืชยืนต้นเป็นแถวตามแนวทิศตะวันออก–ตะวันตก เพื่อเป็นการเปิดแสงให้แก่พืชที่ปลูกระหว่างแถว เลือกชนิดพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และความสะดวกของการคมนาคมในการขนส่งผลผลิตออกสู่ภายนอก ประเภทชนิดพันธุ์พืชในการพิจารณาปลูกในพืชเพื่อการใช้สอย ควรเป็นพืชยืนต้นดั้งเดิมที่เกษตรกรคุ้นเคยเป็นที่รู้จักดี เช่น แค สะเดา ขี้เหล็ก ขนุน ประโยชน์จากพืชเหล่านี้นอกจากผลผลิตแล้วก็สามารถนำเนื้อไม้มาทำเครื่องเรือน กิ่งก้านแห้งใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยการปลูกผสมผสานกับไม้ยืนต้นและตามแนวรั้วส่วนพืชกินได้ ควรปลูกทั้งพืชไม้ผล พืชผัก และพืชตระกูลถั่วสลับหมุนเวียน เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินและหลีกเลี่ยงการสะสมของโรคในดิน ด้านพืชรายได้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการ ควรคำนึงความเหมาะสมกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชุ่มชื้น แหล่งน้ำ ระยะทางในการขนส่งผลผลิต ความสะดวกในการคมนาคม ปัจจัยพื้นฐานในการลงทุน ทักษะ เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพาะปลูกมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด
สำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลการคมนาคม ควรพิจารณาปลูกพืชที่มีผลผลิตที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเพื่อรอเวลาในการขนส่ง เช่น ปอสา หางไหล และพืชที่มีเมล็ดเป็นผลผลิตพื้นที่ที่การคมนาคมสะดวก เกษตรกรมีทางเลือกมากที่จะเลือกชนิดพรรณพืชในการปลูก แต่ในการพิจารณานั้นควรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือลักษณะที่เหมาะสมประการอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น แหล่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ขนาดทุนของเกษตรกรหากทุนน้อย พืชที่ควรเลือกปลูก คือ พืชผักสวนครัว เพราะลงทุนน้อยขยายพันธุ์ง่าย ใช้แรงงานในครอบครัว และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน หากทุนมาก เลือกชนิดพันธุ์พืชที่ต้องลงทุนมากแต่ให้ผลตอบแทนสูงได้ เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งเป็นพืชที่ต้องดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมาก ต้องใช้แรงงานมากและอาจต้องมีการจัดจ้างแรงงานช่วยงานนอกเหนือจากแรงงานในครัวเรือนด้วย นอกจากนี้ส่วนใหญ่ในการเพาะปลูกพืชเช่นนี้จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญมาก ตัวอย่างพืชที่มีการเพาะปลูก เช่น กล้วยไม้ ปริก ปาล์ม เฟิร์น เป็นต้นหรือพิจารณาเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบางประการ เช่นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงงานแปรรูป ชนิดพันธุ์พืชที่ปลูกควรเป็นพืชที่เป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูปนั้น ๆ เช่น ขนุน มะม่วง มะกอกน้ำ มะดัน ว่านหางจระเข้ หากลักษณะพื้นที่แห้งแล้งดินเลว สภาพพื้นที่เสื่อมโทรมและพื้นที่รับน้ำฝน พืชที่ปลูกควรเป็นพืชทนแล้งต้องการน้ำน้อย เช่น มะม่วง ส้มโอ ขนุน มันชนิดต่าง ๆและควรพิจารณาเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ด้วย
|
|
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th วันที่ 21 มิถุนายน 2555
|