SiteName

เกษตรยั่งยืนอนาคตใส

topic4 old p30 1 


ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการเกษตรทางเลือกอีกแนวหนึ่ง เป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชุมชนหลายระดับ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรและองค์กรนี้ได้ก่อตัวขึ้นในสังคมไทยมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา เกษตรกรรมยั่งยืนจะมีแนวคิดและวิธีการปฏิบัติที่สวนทางกับการเกษตรแผนใหม่ ที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกจำนวนมากและก่อให้เกิดสภาพเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา    แต่เกษตรกรรมยั่งยืนจะมีรูปแบบการทำการเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ เป็นธรรมทางสังคม และมีมนุษยธรรม และระบบการเกษตรกรรมยั่งยืน จะเป็นระบบการเกษตรที่รักษาอัตราการผลิตพืชและสัตว์ ให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวติดต่อกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายหรือไม่เหมาะสม นอกจากนี้ในการทำการเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้สอดคล้องกับการทำการเกษตรกรรมยั่งยืน 
             ดังนั้น การทำเกษตรกรรมยั่งยืนจึงไม่ได้หมายความเพียงการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการทำการเกษตร หากยังหมายรวมถึงการสอนให้มีการปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าและกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตไปในเวลาเดียวกัน เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานที่มีทั้งการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดที่ผสมกันและมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ในการปลูกพืชจะมีการใช้พื้นที่ปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการปลูกพืชต่างระดับกันเพื่อให้พืชแต่ละระดับได้ใช้แสงโดยทั่วกัน และเกื้อกูลกันระหว่างพืชแต่ละชนิด และในการเลือกพืชแต่ละชนิดหรือรูปแบบของการปลูกพืชจะพิจารณาจากสภาพพื้นที่ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับพืชที่ปลูก เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าว ปลาจะกินสาหร่ายในนาข้าว และถ่ายมูลออกมาเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าว การเลี้ยงไก่บนบ่อปลา ไก่จะถ่ายมูลลงในบ่อและมูลนั้นก็จะกลายเป็นอาหารให้กับปลาในบ่อต่อไป  เนื่องจากระบบเกษตรยั่งยืน เป็นระบบเกษตรที่มีความหมายค่อนข้างใกล้เคียงกับระบบเกษตรผสมผสาน แต่จะเน้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความยั่งยืน ดังนั้นระบบการเกษตรแบบใดก็ตามที่มีรูปแบบที่ทำให้เกิดความมั่นคงต่อเกษตรกร และมีผลในระยะยาวจึงจะถูกรวมเข้ามาอยู่ในระบบเกษตรยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร และเกษตรผสมผสาน เป็นต้น เป็นที่น่าดีใจที่ปัจจุบันเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า จำนวนผู้ป่วยเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาจวบจนปัจจุบันมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้หันมาเอาใจใส่กับตนเองในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของตนเอง หันมารับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ ดังนั้น สินค้าเกษตรอินทรีย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยเหล่านี้

นอกจากนี้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง โดยการบริโภคในตลาดโลกมีมากถึง 1 ใน 3 ที่หันมาบริโภคผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ขณะเดียวกันมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยการลดภาษีและอุดหนุนต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เช่น ลดภาษีให้กับสินค้าที่ได้ฉลากเขียว และเพิ่มกำแพงภาษีกับสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ละประเทศมีการทำข้อตกลงที่จะดำเนินนโยบายเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ทำให้แต่ละประเทศจึงหันมาเข้มงวดในการตรวจสอบปริมาณสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ และการใช้สารเคมีต้องห้ามในการผลิตพืชผลทางการเกษตรมากขึ้นที่สำคัญได้มีการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการปรับมาตรฐานดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเข้าใจของผู้ผลิตในทิศทางเดียวกัน และทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นเกษตรกรไทยที่ทำการผลิตพืชอาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช มิเช่นนั้นแล้วโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนจากการเพาะปลูกก็อาจจะเกิดขึ้นได้.

 

 แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th   วันที่ 22 มิถุนายน 2555  

 

กลุ่มวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร