SiteName

ชวนผู้นำชุมชนเรียนรู้จัดการน้ำในท้องถิ่น มีน้ำกิน มีน้ำใช้แบบพอเพียงและยั่งยืน

topic4 old p34 1


มหาอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมจำวน 22 จังหวัด สูญเสียให้ประเทศไทยเป็นมูลค่ามหาศาล ปัจจัยแห่งเหตุการณ์นี้ส่วนหนึ่งมาจากภัยธรรมชาติ พายุฝนที่โหมกระหน่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า ภาครัฐมีการ บริหารจัดการน้ำอย่างถูกต้องหรือไม่ และไม่ว่าเหตุจะมาจากอะไรที่ทำให้น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นเกิดขึ้น เราทุกคนคงต้องย้อนมองดูตัวเองเช่นกันว่าจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ หรือชุมชนที่ตนอาศัยอยู่อย่างไร เพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้อย่างยั่งยืน และไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างเช่นที่แล้วมา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา จึงได้ร่วมกับ การประปานครหลวง จัดการสัมมนาเรื่องเทคโนโลยีพอเพียงเพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชนขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ (ไบเทค) บางนา กรุงเทพฯ โดยมีผู้นำส่วนท้องถิ่นทั้งจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล จากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน

นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ในฐานะผู้อำนวยการจัดการสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร การส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การสื่อสารสาธารณะ โทรคมนาคม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำแล้ง การบริหารจัดการน้ำ สามารถกระทำได้โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า หากเรามีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดน้ำ จะช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรของชาติได้มาก

น้ำท่วมปีที่แล้ว ทำให้คนไทยทุกคนจะต้องเข้าสู่โหมดของการบริหารการจัดการน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ในร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบสามในสี่ส่วน เราไม่ดื่มน้ำแค่สามวันตาย ไม่กินข้าวอยู่ได้ยี่สิบเอ็ดวัน แต่ถ้าไม่มีอากาศอยู่ไม่ได้ น้ำเป็นอัตราตายที่จะทำให้คนเสียชีวิตรองลงมาจากอากาศ ประเทศไทยก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำมาตลอด เดี๋ยวน้ำแล้ง เดี๋ยวน้ำมากเกินไป ซึ่งเกิดจากฝีมือพวกเราทั้งนั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างยั่งยืนนั้นรอภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะรัฐจะดูแต่ภาพรวม ทั้งที่ในความเป็นจริงแนวทางหรือวิธีแก้ไขปัญหาเดียวกันไม่สามารถใช้ได้ทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ? ฉะนั้นคนที่จะรู้ดีที่สุดคือคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นนั้นๆ เราจึงต้องนำองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปมอบให้เขา เพื่อที่เขาจะได้เลือกแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ในขณะเดียวกันถึงแม้จะทำต่างคนต่างวิธีแต่ในภาพรวมก็ต้องมีความสอดคล้องกัน ก็จะช่วยให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน   การที่นำ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และผู้นำชุมชนจากทั่วประเทศ มาเข้าร่วมสัมมนานั้น ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ ให้เหตุผลว่า อบจ. อบต. เทศบาล มีภารกิจหลักในดูแลสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ถนนหนทางของชุมชน เรื่องน้ำก็เป็นเรื่องใหญ่อันดับหนึ่งที่ผู้นำท้องถิ่นจะต้องจัดหาให้พอเพียงกับคนในชุมชนที่เขาดูแลอยู่ เมื่อมาร่วมสัมมนาผู้นำเหล่านี้จะเป็นผู้นำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปกระจายต่อสู่คนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนของตนเอง

การที่โฟกัสไปที่ตำบล หมู่บ้าน เทศบาล เพราะทุกวันนี้เขาก็จัดการกันไปตามมีตามเกิด ถ้าเขาได้มารู้จักกับผู้เชี่ยวชาญ ในการจัดการน้ำ ได้มาเจอวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับชุมชน เขาก็จะรู้ว่าเขาจะทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับน้ำในท้องถิ่นของเขา เพราะไม่มีใครรู้จักท้องถิ่นได้ดีกว่าพวกเขาเหล่านี้ และการสัมมนาครั้งนี้เราเน้นว่า ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีแบบพอเพียง เป็นเทคโนโลยีขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เงินมาก ดูแลบริหารจัดการได้โดยท้องถิ่น อย่างเช่น กาลักน้ำ ก็เป็นวิธีบริหารจัดการน้ำที่เป็นภูมิปัญญาไทย เป็นเทคโนโลยีที่บรรพบุรุษของเราคิดค้นขึ้นมา แต่ถูกลืมไป ซึ่งยังสามารถใช้งานได้ในปัจจุบัน อีกประการหนึ่งคือ การจัดการน้ำมีหลายเรื่อง น้ำเพื่อการเกษตร การป้องกันน้ำท่วม การป้องกันน้ำแล้ง เป็นการจัดการที่ต้องทำแบบองค์รวม คือ ป้องกันได้ทั้งน้ำท่วม ป้องกันได้ทั้งภัยแล้ง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มการดูดซับน้ำไว้ใต้ดิน ก็เป็นภารกิจของชุมชนอยู่แล้ว

ในการสัมมนาเรื่อง เทคโนโลยีพอเพียงเพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชนได้ผู้เชี่ยวชาญจาก การประปานครหลวง มาทำหน้าที่วิทยากรมอบองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ผู้ร่วมสัมมนา อาทิ กาลักน้ำขนาดใหญ่เพื่อเกษตรกรรมและชุมชนโดย นายวิวัฒน์ จริตนันท์ ผู้อำนวยการกองบำรุงรักษาไฟฟ้า ฝ่ายบำรุงรักษาสถานีสูบจ่ายน้ำ การประปานครหลวง ตะบันน้ำโดย นายอดิศร สุนทรารักษ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิเลย เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง) และคลินิกน้ำสะอาดเพื่อชุมชนโดย นางนิสภัสร์ วงศ์พัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพน้ำ ฝ่ายคุณภาพน้ำ การประปานครหลวง

ทั้งนี้ การสัมมนาเรื่อง เทคโนโลยีพอเพียงเพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “Thai Water 2012” ระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2555 จัดโดย บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมด้านน้ำที่ครบวงจรที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย มีผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมน้ำกว่า 100 บริษัท จาก 10 ประเทศ รวมถึง การประปานครหลวง ที่จะมานำเสนอนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ น้ำดี น้ำเสีย อาทิ การแสดงระบบกรองที่สามารถทำให้น้ำทะเลที่สามารถทำเป็นน้ำจืดได้ เครื่องผลิตน้ำดื่มอัจฉริยะ ที่มีเครื่องนี้เพียงเครื่องเดียวก็สามารถทำน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง น้ำที่ท่วม ให้กลายเป็นน้ำดื่มที่มีความสะอาดเท่าน้ำดื่มบรรจุขวด(คือสะอาดกว่าน้ำประปา) โดยใช้แสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเสียขึ้นมาและใช้ระบบกรองที่มีความละเอียดถึง 0.04 ไมครอนในการกรอง เป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ เครื่องผลิตน้ำดื่มจากอากาศ? คือ นำเครื่องนี้ไปตั้งไว้กลางห้องเฉยๆกลไกการทำงานจะดูดความชื้นจากอากาศ แล้วเปลี่ยนไอน้ำให้กลายเป็นน้ำสะอาดที่สามารถดื่มได้ทันที ทำให้เรามีน้ำดื่มโดยไม่ต้องอาศัยแหล่งน้ำจากธรรมชาติอีกต่อไป

นอกจากองค์ความรู้ที่จะได้รับจากการสัมมนาแล้ว ผู้นำชุมชนเหล่านี้ก็ยังจะได้มีโอกาสชมนวัตกรรม อุปกรณ์ เครื่องมือที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ในงาน Thai Water 2012 ซึ่งล้วนเป็นผู้ผลิต จะก่อให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและชุมชนโดยตรง เมื่อจะมีการจัดซื้อท้องถิ่นก็สามารถซื้อได้จากผู้ผลิตโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายประการหนึ่ง ที่สำคัญคือได้รับทราบถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองและนำไปประยุกต์ใช้ได้แบบพอเพียง

ผู้นำชุมชน หรือผู้นำท้องถิ่นทุกระดับที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาเรื่องเทคโนโลยีพอเพียงเพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชนในวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการจัดประชุมสัมมนา คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา โทร. 0-2642-6911 ต่อ 816 หรือ 817

 

 

 

 แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2555    

 

กลุ่มวางแผนการจัดการที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยทางการเกษตร