SiteName

ข้อมูลพื้นที่ร้าง

 
การสำรวจจำแนกพื้นที่ทิ้งร้างในประเทศไทย
 
          การสำรวจจำแนกพื้นที่ร้าง เป็นการวิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลดาวเทียมในรูป digital จากดาวเทียม Landsat 5 ระบบ TM ( Thematic mapper) จำนวน 3 ช่วงคลื่น คือ ช่วงคลื่นที่ 3 (Band 3) ช่วงคลื่นที่ 4 (Band 4) และช่วงคลื่นที่ 5 (Band 5) เพื่อจำแนกพื้นที่ร้างในประเทศไทย โดยการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียวด้วยคอมพิวเตอร์เบื้องต้นด้วยวิธี Unsupervised classification เพื่อหาพื้นที่ตัวอย่าง (Training area) เพื่อนำไปจำแนกพื้นที่ร้างประเภทต่างๆ ด้วยวิธี Supervised classification ประกอบกับการตรวจสอบภาคสนาม เพื่อตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ร้างซึ่งจำแนกด้วยคอมพิวเตอร์ว่ามีความถูกต้องกับสภาพในปัจจุบันหรือไม่
นิยามและความหมาย
 
          พื้นที่ร้าง หมายถึง พื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พื้นที่ร้างดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เคยทำการเกษตรกรรมมาก่อนและปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้าทำประโยชน์ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน นอกจากพื้นที่ร้างที่เคยทำการเกษตรกรรมมาก่อนแล้ว ยังมีพื้นที่ร้างที่เคยทำเหมืองแร่มาก่อน และที่ลุ่มต่างๆ รวมอยู่ด้วย
การจำแนกพื้นที่ทิ้งร้าง
 
          กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถาบันวิจัยพัฒนาเพื่อป้องกันการเป็นทะเลทรายและการเตือนภัย ทำการสำรวจจำแนกพื้นที่ร้างเฉพาะที่อยู่นอกเขตป่าไม้ทุกประเภทได้ดังนี้
          1. นาร้าง มีลักษณะทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ในอดีตมีการทำนาทั้งนาดำและนาหว่าน แต่ปัจจุบันปล่อยทิ้งร้างไว้ ในฤดูฝนมักมีน้ำท่วมเสียหาย ในฤดูแล้งจะมีวัชพืช โดยเฉพาะหญ้าชนิดต่างๆ เจริญเติบโตขึ้นปกคลุมพื้นที่นาร้างอยู่เป็นจำนวนมาก นาที่ร้างต่อเนื่องกันมาหลายปี จะสังเกตเห็นวัชพืชเจริญเติบโตขึ้นหนาแน่นอย่างชัดเจน
          2. ไร่ร้าง สภาพเดิมเคยปลูกพืชไร่มาก่อนนานหลายสิบปี ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกไม่คุ้มทุน จึงปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างไว้ มีหญ้าหรือวัชพืชต่างๆ ตลอดจนไม้ขนาดเล็กเจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่
          3. ทุ่งหญ้าธรรมชาติ สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาด พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ใกล้กับภูเขา สภาพเดิมเคยเป็นป่าไม้มาก่อน แต่ถูกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืชไร่ต่างๆ ดินมักจะเป็นดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินตื้น มีกรวดหินปะปน จึงปล่อยทิ้งร้างไว้ให้เป็นไร่ร้าง เมื่อทิ้งร้างไว้ติดต่อกันนานหลายปี วัชพืชต่างๆ โดยเฉพาะหญ้าจะเจริญเติบโตขึ้นมาปกคลุมพื้นที่อย่างหนาแน่น เป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติอย่างถาวร
          4. ไม้ละเมาะ สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาด อยู่ในบริเวณที่ใกล้กับภูเขา ดินมักจะเป็นทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินตื้น มีกรวดหินปะปน ทำการเพาะปลูกไม่คุ้มทุน สภาพเดิมเคยเป็นป่าไม้มาก่อน แต่ถูกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตรกรรม หรือนำไม้ที่ตัดได้ไปใช้ประโยชน์ และปล่อยทิ้งร้างไว้ จนกระทั้งมีหญ้าและวัชพืชอื่นๆ ขึ้นปกคลุมพื้นที่ก่อนพืชชนิดอื่นๆ เมื่อทิ้งร้างไว้หลายสิบปี ก็จะมีไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือไม้ละเมาะเจริญเติบโตขึ้นมาปะปนและแทนที่หญ้าหรือวัชพืชอื่นๆ ต่อไป
          5. ที่ลุ่ม เป็นที่ลุ่มน้ำขังตลอดปี หรือที่ลุ่มชื้นแฉะที่มีน้ำขังเป็นบางฤดู ซึ่งในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง และมีหญ้าหรือพืชพรรณที่ชอบขึ้นในที่ลุ่ม เช่น กก แขม อ้อ เจริญเติบโตขึ้นปกคลุมพื้นที่ลุ่มนี้ สภาพพื้นที่ที่พบมักเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ
          6. เหมืองแร่ร้าง ลักษณะดินเป็นทรายจัด เกิดขึ้นภายหลังจากการทำเหมืองแร่ มีก้อนกรวด ก้อนหิน เศษหินกระจัดกระจายทั่วไป เป็นหย่อมๆ สภาพพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ และมีขุมเหมืองหรือแอ่งน้ำกระจัดกระจายไปทั่ว เหมืองแร่ร้างไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรกรรม จึงถูกทิ้งร้างว่างเปล่า
ผลการสำรวจ
 
          พื้นที่ทิ้งร้างประเทศไทย พ.ศ. 2549 มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 7,455,725 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.3249 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็น
          1. นาร้าง มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 198,858 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0620 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 53 จังหวัด 166 อำเภอ 413 ตำบล ภาคเหนือ มีเนื้อที่นาร้าง 13,599 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0042 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 12 อำเภอ 27 ตำบล ภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ มีเนื้อที่นาร้าง 5,462 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0017 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด 22 อำเภอ 29 ตำบล ภาคกลาง มีเนื้อที่นาร้าง 23,449 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0073 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด 36 อำเภอ 89 ตำบล ภาคตะวันออก มีเนื้อที่นาร้าง 75,322ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0235 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 34 อำเภอ 113 ตำบล ภาคใต้ มีเนื้อที่นาร้าง 81,027 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0253 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด 62 อำเภอ 155 ตำบล
          2. ไร่ร้าง มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 18,002 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0056 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด 23 อำเภอ 30 ตำบล ภาคเหนือ มีเนื้อที่ไร่ร้าง 14,182 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0044 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 8 อำเภอ 12 ตำบล ภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ มีเนื้อที่ไร่ร้าง 557 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0002 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 4จังหวัด 5 อำเภอ 6 ตำบล ภาคกลาง มีเนื้อที่ไร่ร้าง 1,384 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0004 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 6 ตำบล ภาคตะวันออก มีเนื้อที่ไร่ร้าง 1,879ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0006 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 6 อำเภอ 6 ตำบล
          3. ทุ่งหญ้า มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 51,118 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0159 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัด 63 อำเภอ 97 ตำบล ภาคเหนือ มีเนื้อที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ 3,428 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0011 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 8 อำเภอ 9 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ 11,885 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0037 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ภาคกลาง มีเนื้อที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ 1,341 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0004 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 1 จังหวัด 2 อำเภอ 3 ตำบล ภาคตะวันออก มีเนื้อที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ 28,364 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0088 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 13 อำเภอ 22 ตำบล ภาคใต้ มีเนื้อที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ 6,099 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0019 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3จังหวัด 4 อำเภอ 5 ตำบล
          4. ป่าละเมาะ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 6,138,743 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.9142 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 66 จังหวัด 548 อำเภอ 2,408 ตำบล ภาคเหนือ มีเนื้อที่ป่าละเมาะ 1,704,413 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.5315 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด 113 อำเภอ 427 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ป่าละเมาะ 3,635,049 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.1335 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด 296 อำเภอ 1,587 ตำบล ภาคกลาง มีเนื้อที่ป่าละเมาะ 483,770ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.1508 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด 60 อำเภอ 194 ตำบล ภาคตะวันออก มีเนื้อที่ป่าละเมาะ 111,188 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0347 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 37 อำเภอ 84 ตำบล ภาคใต้ มีเนื้อที่ป่าละเมาะ 204,323 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0637 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด 42 อำเภอ 116 ตำบล
          5. ที่ลุ่ม มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,025,236 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.3197 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 68 จังหวัด 361 อำเภอ 1,008 ตำบล ภาคเหนือ มีเนื้อที่ที่ลุ่ม 214,177 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0668 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด 55 อำเภอ 115 ตำบล ภาคตะวัน
ออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ที่ลุ่ม 513,034 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.1600 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด 156 อำเภอ 484 ตำบล ภาคกลาง มีเนื้อที่ที่ลุ่ม 52,123 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0163 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด 42 อำเภอ 106 ตำบล ภาคตะวันออก มีเนื้อที่ที่ลุ่ม 64,862 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0202 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 22 อำเภอ 81 ตำบล ภาคใต้ มีเนื้อที่ที่ลุ่ม 181,040 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0565 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด 86 อำเภอ 222 ตำบล
          6. เหมืองแร่ร้าง มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 23,768 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0074 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด 13 อำเภอ 21 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่เหมืองแร่ร้าง 69 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.00002 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 1จังหวัด 1 อำเภอ 1 ตำบล ภาคตะวันออก มีเนื้อที่เหมืองแร่ร้าง 19,773 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0062 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด 8 อำเภอ 11 ตำบล ภาคใต้ มีเนื้อที่เหมืองแร่ร้าง 3,926 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.0012 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ 9 ตำบล
สาเหตุการทิ้งร้างที่ดิน
 
               1. เป็นที่ดินของนายทุน หรือเป็นปัญหาการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน
               2. น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ที่พบเป็นพื้นที่นาร้าง มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนยาวนาน
               3. ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินตื้น มีหินมากหรือมีหินโผล่
               4. ขาดแรงงานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
               5. ขาดน้ำในการประกอบอาชีพ
ประโยชน์ที่จะได้รับ
 
          เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญ ในการศึกษาวิจัยการจัดการพื้นที่ทิ้งร้างประเภทต่างๆ พัฒนารูปแบบการปลูกพืช การใช้ที่ดิน การจัดการดินที่เหมาะสมในพื้นที่ทิ้งร้าง เพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าที่ดิน ตลอดจนเทคโนโลยีการปรับปรุงพื้นที่ทิ้งร้าง